หลังจากผ่านพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่โศกเศร้าของชาวไทยทั้งประเทศ แต่พวกเราก็ได้มีโอกาสเห็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ และคงไว้ตามโบราณราชประเพณีที่มีมา รวมไปถึงการได้มีโอกาสเข้าชม พระเมรุมาศที่ประกอบพระราชพิธีด้วย
พระเมรุมาศเปิดให้เข้าชมทุกวันครับ ๗.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. ตั้งแต่วันที่ ๒-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ (แต่เนื่องจากจำนวนผู้เข้าชมจำนวนมาก ทำให้ทางรัฐบาลกำลังตัดสินใจว่าจะขอพระบรมราชานุญาตเพิ่มระยะเวลาอีกหรือไม่) โดยรอบการรับชมจะชมได้รอบละประมาณ ๕,๐๐๐ คนครับ
ทางเข้าชม จะแบ่งเป็น ๓ ด้าน
- พระแม่ธรณีบิดมวยผม (แถวราชดำเนิน โรงแรมรัตนโกสินทร์)
- กรมรักษาดินแดน
- ถนนท่าช้าง
ถ้าขับรถส่วนตัว แนะนำให้ไปจอดได้ที่ตึกจอดรถ กทม. ใกล้ถนนข้าวสารและเดินไปทางงด้านพระแม่ธรณีครับ
เมื่อไปถึงจุดคัดกรอง อย่าลืมเตรียมบัตรประชาชน เพื่อสแกนผ่านกล้องจะได้ไม่เสียเวลาครับ จากนั้นจะมีการตรวจกระเป๋าตามปกติ
จากนั้นก็จะเดินเข้ามาด้านในเป็นเต้นท์หลังคาสูงเพื่อรอเข้าชมครับ โดยนั่งเรียงตามแถวตัวอักษร เมื่อถึงเวลาเข้าชมได้ เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกทีละแถว ระหว่างที่รอแถวถ้ามากันหลายคน สามารถลุกออกมาถ่ายภาพพระเมรุมาศได้ครับ ให้คนที่มาด้วยเฝ้าของแล้วผลัดกัน
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เรียกแถวให้เข้าไปชมได้
- สามารถถ่ายภาพได้ตามปกติแต่อยู่ในกริยาสำรวม งดถ่ายเซลฟี่
เมื่อเข้าใกล้ไปทีละนิดก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่งดงามและสมพระเกียรติ
ฉากบังพระเพลิงเป็นภาพวาดงดงาม
เมื่อเข้าไปแล้ว ส่วนกลางเป็พระเมรุมาศ และโดยรอบมีศาลาลูกขุนต่างๆซึ่งเปลี่ยนไปเป็นส่วนจัดแสดงรายละเอียดการสร้างพระเมรุมาศครับ เริ่มจากอาคารทางซ้ายเมื่อเข้าไป เป็นผังอาคารและแบบจำลองแสดริ้วขบวนพระราชพิธี
แบบจำลองที่มีความงดงามมาก
จากศาลาแรก เราเดินกลับมาดูแปลงนาสาธิและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆของมูลนิธิชัยพัฒนาครับ
มีโต๊ะทรงงานในสมเด็จพระเทพฯด้วยครับ
ออกมาแสงเริ่มเปลี่ยน พระอาทิตย์กำลังจะลับของฟ้า แสงไฟที่ประดับพระเมรุมาศเริ่มจะทำหน้าที่ของมันชัดเจนขึ้นครับ
ในการเข้าชมพระเมรุมาศ และศาลาต่างๆเราจะเดินชมเป็นแบบตามเข็มนาฬิกาครับ (ซ้ายไปขวา)
ศาลาแต่ละแห่งจะเล่าเรื่องราวการก่อสร้างพระเมรุมาศในแต่ละส่วน สำหรับตรงนี้จะเป็นส่วนของตกแต่งต่างๆ
เทวดาบังไฟ
เครื่องแขวนต่างๆ ทำจากเม็ดธัญพืช วิจิตรบรรจงมาก
เครื่องแขวนที่เป็นไม้ก็ละเอียดไม่แพ้กัน
เมื่อออกจากศาลาที่ ๒ ฟ้าก็เริ่มเปลี่ยนสีไปอีกแบบครับ เป็นความงามของฟ้าในช่วง Twilight หรือโพล้เพล้ เมื่อถ่ายภาพออกมาจะสวยมาก ฟ้าสีฟ้าช่วยขับให้พระเมรุมาศสีทองเหลืองอร่ามจับใจ
ความงดงามที่ใครก็ตามที่เข้าชม ไม่สามารถห้ามใจตัวเองไม่ให้ถ่ายภาพเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำได้
รอบๆพระเมรุมาศจะเป็นสระน้ำ ตามคติความเชื่อโบราณ ที่เชื่อว่าพระเมรุมาศนั้นคือเขาพระสุเมร รายรอบด้วยป่าหิมพานต์ มีสระต่างๆ ๗ สระ แต่ที่พวกเรามักได้ยินคือสระอโนดาตครับ แต่ละสระรอบพระเมรุมาศจึงมีสัตว์หิมพานต์ที่ต่างกัน
มุมนี้จะสามารถมองทอดยาวไปถึงพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ชื่นชมกับความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศครับ
ถัดมาจะเป็นศาลาอธิบายถึงการสร้างโครงสร้างต่างๆ มีภาพสเกตบนโต๊ะเขียนแบบ และนำภาพเหล่านั้นมาขยายเป็นขนาดจริง
ฟ้าก็เปลี่ยนสีอีกครั้ง
มุมนี้เป็นเหมือนทางเดินของดอกดาวเรือง ไปสู่พระบรมมหาราชวัง
ศาลาถัดมา นำเสนอด้านการสร้างงานปั้น รูปปั้นต่างๆ
ครุฑทำได้สวยงามทรงพลังมาก
ฉากบังไฟ
จากนั้นจะมีนิทรรศการพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดยุคสมัยของท่านครับ ด้านหน้ามีขุนโจโฉ แและคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง
ด้านในมีพระราชประวัติเรียงตามช่วงเวลาเลยครับ
วิทยุทรงงานของพระองค์
ของใช้พระราชทานให้ผู้ประสบภัย
โต๊ะทรงงาน "พ่อ" ของพวกเรา โต๊ะของพระราชาที่อาจจะดูเรียบง่ายเมื่อเทียบกับราชาองค์อื่นๆ แต่เป็นโต๊ะที่สร้างความมหัศจรรย์ต่างๆมากมาย ให้กับคนไทยแลรวมไปถึงชาวโลก
ประกาศสำนักพระราชวัง ที่ไม่มีใครอยากให้มี
บัตรในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
ภาพพระบรมฉายาลักษณ์สุดท้ายก่อนออก เป็นภาพที่เรียบง่ายแต่มีความหมายกินใจมากครับ ทำให้รู้สึกตื้นตันในพระราชดำรัสของพระองค์ และทำให้รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พวกเราก็ภูมิใจที่เป็นคนไทย และได้เกิดในแผ่นดินของ "พ่อ"
ส่วนสุดท้ายก่อนออกจะเป็นส่วนจัดแสดงเรื่องพระราชรถในพระราชพิธีครับ
สำหรับผู้พิการก็สามารถเข้าชมได้ โดยการให้สัมผัสแบบจำลองครับ
สำหรับรีวิวพระเมรุมาศก็ขอจบเพียงเท่านี้ครับ อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสมาชมความยิ่งใหญ่ และมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของคนไทย ก่อนที่จะถูกย้ายไปครับ